มด (Ant) 

มด เป็นแมลงชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ทั่วไปตั้งแต่เขตร้อน (Tropics) จนถึงบริเวณใกล้เขตขั้วโลก (Subartic) สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีทั้งในสภาพแวดล้อมทั่วไปในพื้นที่เกษตรกรรมและบริเวณที่อยู่อาศัย จนมีคำกล่าวว่า มดครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ประมาณว่าทั่วโลกพบมดที่จำแนกชนิดแล้ว 15,000 ชนิด ส่วนในประเทศไทยคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานว่ามีการพบมดแล้วทั้งหมด 9 วงศ์ย่อย 86 สกุล 512 ชนิด โดยมดจัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่งที่มีพฤติกรรมความเป็นอยู่แตกต่างจากแมลงอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแมลงสังคมมีอยู่ 2 อันดับ คือ อันดับ Hymenoptera ได้แก่ กลุ่มของ ผึ้ง ต่อ แตน และมด และอันดับ Isoptera ได้แก่ ปลวก
 
            มดเป็นแมลงสังคมที่อยู่ในวงศ์ Formicidae จัดเป็นแมลงสังคมแท้จริงชั้นสูงที่ขนาดรังมีประชากรเป็นจำนวนมาก มีการสร้างรังอย่างประณีต และสมาชิกภายในรังมีการแบ่งชั้นวรรณะแยกออกจากกันให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งรูปร่าง ลักษณะและหน้าที่ โดยมีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมาชิกภายในรัง มดมีบทบาทต่อคนในหลายลักษณะทั้งที่เป็นแมลงทำลายศัตรูพืชผลทางการเกษตรในแปลงปลูกและในโรงเก็บ ทำความเสียหายทางด้านปศุสัตว์ โดยเข้ากัดกินตัวอ่อน ส่วนในบ้านเรือนของคนนั้น มดจะเข้ามาก่อความรำคาญและทำความเสียหาย โดยเข้ามามีส่วนแบ่งในอาหารและที่อยู่อาศัยของคน นอกจากนั้นมดยังสามารถทำอันตรายกับคนโดยตรง โดยมดบางชนิดสามารถกัดหรือต่อยด้วยเหล็กใน หรือทั้งกัดและต่อยทำให้เกิดความเจ็บปวด เกิดอาการแพ้ หรือเกิดแผลการติดเชื้อบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อยนั้น จากสาเหตุดังกล่าวมดจึงจัดเป็นทั้งแมลงศัตรูทางการแพทย์และทางเกษตรกรรม นอกจากมดจะสร้างปัญหาแก่มนุษย์ สัตว์เลี้ยง และพื้นที่เกษตรกรรมแล้ว มดยังสร้างปัญหาในภาคอุตาหกรรมต่างๆอีกด้วย โดยเข้าไปอาศัยในอุปกรณ์หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

ลักษณะโดยทั่วไปของมด
โครงสร้างภายนอกของมดประกอบด้วย ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง แต่ละส่วนจะมีอวัยวะหรือลักษณะที่สำคัญต่างๆปรากฏอยู่ ลักษณะเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในมดแต่ละกลุ่ม ส่วนลักษณะอื่นของมดที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัดคือ หนวดมีลักษณะหักงอแบบข้อศอก (Geniculate) แบ่งออกได้เป็น Scape และ Funicle ในเพศเมียจำนวนปล้องหนวดจะมี 4-12 ปล้อง ส่วนเพศผู้มี 9-13 ปล้อง ปากเป็นแบบกัดกิน มีฟันหรือกรามเรียกว่า Mandible ซึ่งมดบางชนิดจะมีฟันที่ใหญ่สามารถมองเห็นได้เด่นชัด ส่วนท้องปล้องที่ 1 ของมดจะไปรวมกันกับอกปล้องที่ 3 เรียกว่า Propedeum ท้องปล้องที่ 2 หรือ 3 มีลักษณะเป็นก้าน Abdominal pedicel ซึ่งอาจจะมีปุ่มหรือไม่มีก็ได้ ส่วนท้องปล้องที่เหลือรวมเรียกว่า gaster มดเพศเมียบางชนิดจะมีเหล็กในยื่นอออกมาให้เห็นจากปลายของส่วนท้อง มดจะมีตารวมขนาดใหญ่ 1 คู่ (Compound eyes) บางชนิดมีตาเดียว (Ocelli) ซึ่งโดยทั่วไปจะมี 3 ตาอยู่เหนือระหว่างตารวม ตาเดี่ยวจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการรับภาพ
ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของมด

วงจรชีวิตมดเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) ในวงจรชีวิตประกอบด้วยระยะ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

เนื่องจากมดเป็นแมลงสังคม สมาชิกที่อยู่ในรังจะมีการแบ่งชั้นวรรณะแยกออกจากกันให้เห็นอย่างชัดเจน ประกอบด้วย

 
1. วรรณะมดแม่รังหรือมดราชินี มีขนาดใหญ่กว่ามดตัวอื่นที่อยู่ในรัง อกหนา ท้องใหญ่ และมักมีตาเดี่ยว สามารถสืบพันธุ์ได้ ทำหน้าที่ในการเริ่มต้นสร้างรังและวางไข่เพื่อผลิตสมาชิกวรรณะอื่นๆ ภายในรัง ตลอดจนควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในรัง ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวสามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิตของมัน และเมื่อมดราชินีตาย รังมดทั้งรังก็จะค่อยๆ ล่มสลายลงในเวลาต่อมา เนื่องจากจะไม่มีมดงานเกิดใหม่ เพื่อมาหาอาหารเลี้ยงมดภายในรัง

2. วรรณะสืบพันธุ์ จะประกอบด้วยมดเพศผู้และมดเพศเมียที่สามารถผสมพันธุ์ได้ โดยทั่วไปจะมีปีก มีขนาดใหญ่กว่ามดงานแต่เล็กกว่ามดแม่รัง มดวรรณะนี้จะผลิตออกมาเมื่อรังมีขนาดใหญ่ สมาชิกภายในรังมีมาก มีหน้าที่ผสมพันธุ์เพื่อขยายรังใหม่ พบเป็นจำนวนน้อยกว่ามดงานในแต่ละรัง
 
3. วรรณะมดงาน เป็นมดเพศเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก ไม่มีตา เป็นมดที่ออกหาอาหารและพบอยู่เสมอภายนอกรัง นอกจากหาอาหารแล้ว มดงานยังมีหน้าที่ในการสร้างรัง รักษารัง ดูแลตัวอ่อนและราชินีรวมถึงป้องกันรังด้วย อาจมีอายุได้นานถึง 7 ปี

นิเวศวิทยา (พฤติกรรม)
มดเป็นแมลงที่มีกำเนิดมาช้านาน โดยเมื่อศึกษาจากซากฟอสซิล นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีกำเนิดมานานกว่า 50 ล้านปี มดเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสามารถอยู่รอดได้ดี เนื่องจากมดมีพฤติกรรมต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้ประกอบด้วย
 
1. พฤติกรรมการผสมพันธุ์และสร้างรัง
    เมื่อประชากรภายในรังมีความหนาแน่นมากและต้องการขยายรังสมาชิกในรังที่ทำ หน้าที่ผสมพันธุ์ จะบินออกจากรังเดิมเพื่อจับคู่กับมดจาก รังอื่นโดยมดงานจะขุดรูให้เป็นทางออกของแม่รังตัวใหม่ มดที่มีวิวัฒนาการสูงจะจับคู่และผสมพันธุ์บนที่สูง เช่น บนต้นไม้
    ส่วนมดที่วิวัฒนาการต่ำจะผสมพันธุ์บนพื้นดิน หลังจากนั้นมดแม่รังหรือหมดราชินีจะหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างรังซึ่งจะ แตกต่างกัน ออกไปแล้วแต่ชนิดของมด แล้วเริ่มต้นสร้างรังใหม่ เมื่อพบพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วมดรังจะสลัดปีกออกและวางไข่ อุณหภูมิและความชื้น มีอิทธิพล ต่อการผสมพันธุ์ และเมื่อภายในรังมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นมดราชินีจะมีการผลิตมดเพศผู้และ เพศเมียเพื่อทำหน้าที่ผสมพันธุ์ในรุ่นต่อไป
 
2. พฤติกรรมการหาอาหาร
    มดออกหาอาหารได้ทั้งกลางวันและกลางคืน กินอาหารได้หลากหลาย สามารถเป็นได้ทั้งตัวห้ำหรือเป็นพวกกินซาก กินได้ทั้งเมล็ดพืชหรือ ดูดกินอาหารที่เป็นของเหลว มดงานบางชนิดสามารถเก็บอาหารที่เป็นของเหลวไว้ในกระเพาะจนเต็ม แล้วนำกลับไปแจกจ่ายให้กับสมาชิก ตัวอื่นในรังได้ โดยใช้วิธีสำรอกออกมาในเวลาไม่เกิน 20 ชั่วโมง
 
3. พฤติกรรมการติดต่อสื่อสาร
    มดมีการติดต่อสื่อสารโดยปล่อยสารที่เรียกว่าฟีโรโมน ที่มดตัวอื่นจะได้รับการติดต่อได้โดยอาศัยหนวดและขาคู่หน้า ฟีโรโมนมีหลายชนิด
    ฟีโรโมนนำทาง - โดยมดจะปล่อยไว้ตามทางที่มันเดินผ่านไปเพื่อให้สมาชิกตามไปแหล่งอาหารได้ถูก ต้องและเมื่อพบอาหารมากๆ มด จะช่วยกันปล่อยฟีโรโมนทำให้มีมดเป็นจำนวนมากกรูมาที่อาหารอย่างรวดเร็ว
     ฟีโรโมนเตือนภัย – พบว่าเมื่อปล่อยออกมาเป็นจำนวนน้อยๆ จะใช้สื่อสารด้านการเตือนภัยแต่ถ้าปล่อยออกมาในปริมาณมากๆ สามารถ ควบคุมพฤติกรรมบางอย่างได้ด้วย เช่น ให้เข้าโจมตีศัตรู ขุดรูและพบว่าสารนี้จะไม่จำเพาะเจาะจงกับชนิดของมดเหมือนกับฟีโรโมนนำทาง
     ฟีโรโมนอื่นๆ มดจะปล่อยออกมาในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น มดตัวอ่อนสามารถปล่อยฟีโรโมนกระตุ้นให้มดงานป้อนอาหารให้เมื่อมันรู้สึกหิว หรือฟีโรโมนที่แม่รังปล่อยออกมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของประชากรภายในรัง
 
4. พฤติกรรมการใช้เสียง
    มดสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้เสียงเพื่อเป็นการเตือนภัยเรียกสมาชิกให้ มาอยู่รวมกันเมื่อพบศัตรูหรือเรียกเพื่อนๆ มาช่วยเมื่อมี อันตรายเกิดขึ้น
ชนิดมดที่สำคัญ

1. มดคันไฟ (Fire Ant)

ลักษณะสำคัญ: มีสีเหลืองแดง มีขนที่หัวและตัว หนวดมี 10 ปล้อง อกแคบ โดยปล้องแรกจะมีลักษณะกลม ท้องรูปไข่มีลายขวางสีน้ำตาล มีเหล็กใน ลำตัวมีความยาว 7-8 มิลลิเมตร

 
ลักษณะทางชีววิทยา: ทำรังอยู่ใต้ดินที่ร่วนซุยด้วยดินทรายโดยสร้างเป็นเนินดินเล็กๆ รังหนึ่งๆมีรูทางเข้า ออกเล็กๆบนพื้นดินได้หลายรู ชอบอาหารที่มีโปรตีนสูงกินแมลงและซากสัตว์เล็กๆเป็นอาหารรวมทั้งเศษอาหารที่คนทิ้งไว้
 
ความสำคัญทางการแพทย์: ทำอันตรายกับคนได้ทั้งการกัดและการใช้เหล็กในต่อย ผู้ถูกต่อยจะรู้สึกเจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวกจึงเรียกมดคันไฟ หลังจากถูกต่อยบริเวณแผลจะมีอาการบวมแดงขยายวงกว้างขึ้นและจุดที่ถูกต่อยจะใสคล้ายถูกไฟลวกและจะมีอาการคันมากเมื่อเกาผิวหนังจะบวมแดงแผ่กว้างขึ้น

 2. มดละเอียด (Pharaohs Ant)

ลักษณะสำคัญ: มีสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลอ่อนหรือสีแดงสว่างใส ส่วนท้องมีสีเข้มเกือบดำ หนวดมี 12 ปล้อง ตาเล็ก มีขน อกยาวแคบ ลำตัวมีความยาว 1.5-2 มิลลิเมตร
 
ลักษณะทางชีววิทยา: เป็นมดที่ทำรังหลักหรือรังใหญ่ (mother colony) และมีรังย่อย (daughter colony) อยู่ใกล้แหล่งอาหาร พบตามบ้านที่อยู่อาศัย โดยรังย่อยเหล่านี้จะซ่อนอยาตามรอยแตกของผนัง ช่องว่างตามกำแพง กล่องสวิตช์ไฟ มดละเอียดชนิดนี้กินอาหารได้หลายชนิด ทั้งน้ำตาลและโปรตีน เป็นมดที่จัดว่าทำการควบคุมได้ยาก เนื่องจากมีขนาดเล็กหลบซ่อนตัวได้ง่าย หากินไกลออกจากรัง มีทั้งรังหลักและรังย่อยซึ่งยากต่อการค้นหา และพบว่าการใช้สารเคมีในการฉีดพ่นที่รังใดรังหนึ่งและทำให้ประชากรแตกกระจาย บางครั้งจะทำให้มดชนิดนี้ยิ่งแตกออกเป็นรังย่อยๆหรือที่เรียกว่า budding ซึ่งทำให้ควบคุมยากยิ่งขึ้น
 
ความสำคัญทางการแพทย์: มีเหล็กในแต่ไม่ปรากฏให้เห็น เมื่อถูกรบกวนจะป้องกันตัวด้วยการกัด ผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บและคันเพียงเล็กน้อย

3. มดเหม็น (Ghost Ant)
 
ลักษณะสำคัญ: มีสีแดงสนิมปนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องใส หนวดมี 12 ปล้อง อกยาวแคบ ลำตัวมีความยาว 2.5-3.5 มิลลิเมตร
 
ลักษณะทางชีววิทยา: ทำรังอยู่ในดิน พบตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชอบกินของหวาน เมื่อมากินอาหารแล้วจะปล่อยสิ่งขับถ่ายทำให้อาหารมีรสชาติเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวรวดเร็ว
 
ความสำคัญทางการแพทย์: เมื่อถูกรบกวนจะป้องกันตัวโดยการกัด ผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บและคันเพียงเล็กน้อย

 4. มดดำ (Crazy Ant)

ลักษณะสำคัญ: มีสีน้ำตาลเข้มบางส่วนสีดำ ขนสีน้ำตาลเหลืองปกคลุมอยู่ทั่วไป หนวดมี 12 ปล้อง ลักษณะยาวเห็นได้ชัด ท้องรูปไข่ ความยาวของลำตัว 2.3-3 มิลลิเมตร
 
ลักษณะทางชีววิทยา: พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในที่อยู่อาศัยและภายนอกอาคารบ้านเรือน มดงานออกหากินไกลออกไปจากรัง ดังนั้นจึงยากที่จะควบคุมมดชนิดนี้ได้ทั้งรัง เป็นมดที่เคลื่อนที่ได้เร็วมากโดยไม่ติดตามฟีโรโมนของมดตัวอื่นๆพบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำรังตามรอยแตกของต้นไม้ หรือในดินใต้วัสดุต่างๆ ชอบกินน้ำหวาน บางครั้งอาจพบเห็นมดชนิดนี้ขนย้ายไข่ มดชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายคนแม้ถูกรบกวน
 
ความสำคัญทางการแพทย์: เป็นมดที่ทำให้เกิดความรำคาญมากกว่าทำให้เกิดอันตราย

5. มดง่าม (Big headed)
 
ลักษณะสำคัญ: มีสีน้ำตาลเข้ม กรามใหญ่สำหรับกระเทาะเปลือกของเมล็ดหรือโครงกระดูกภายนอกของแมลงที่เป็นเหยื่อ หนวดมี 11 ปล้อง อกปล้องแรกและปล้องที่สองนูนเห็นได้ชัด ส่วนท้องกว้างรูปไข่ความยาว 4.5-13 มิลลิเมตร
 
ลักษณะทางชีววิทยา: ทำรังอยู่ในดินร่วนมองผิวดินจะเห็นเป็นเพียงรูเปิดเล็กๆ และมีดินร่วนกองอยู่รอบๆของขอบรูเข้าออก ชอบทำรังในที่ร่มชื้น กินแมลงและเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
 
ความสำคัญทางการแพทย์: ทำอันตรายต่อคนโดยการกัด โดยอาการจะคล้ายคลึงกับอาการของคนที่ถูกมดคันไฟต่อยมาก

6. มดแดง (Green Tree Ant/ Weaver Ant)

ลักษณะสำคัญ: มีสีแดงสนิม หัวและส่วนอกมีขนสั้นๆสีขาว หนวดมี 12 ปล้อง อกยาวโดยอกปล้องแรกโค้งอกปล้องที่สองคลอดคล้ายอาน และอกปล้องที่สามกลม ขาเรียวยาว ท้องสั้น ความยาว 7-11 มิลลิเมตร
 
ลักษณะทางชีววิทยา: ทำรังบนต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วง ชมพู่ โดยใช้ใบไม้เหล่านี้ประกอบเป็นรังโดยตัวอ่อนจะปล่อยสารเหนียวออกมาเชื่อมใบไม้ให้ประกบกัน เมื่อพบเหยื่อจะทำร้ายเหยื่อโดยการกัดและฉีดสารพิษออกมาทางปลายท้อง เมื่อเหยื่อได้รับบาดเจ็บจะช่วยกันลากกลับรัง
 
ความสำคัญทางการแพทย์: เมื่อถูกรบกวนจะทำอันตรายคนโดยการกัด ผู้ถูกกัดจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ต่อมาจะเกิดอาการบวมคัน